นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ความเชื่อฟัง
นิทานเรื่องที่สี่ เรียกว่า เรื่อง “ความเชื่อฟัง” ธฺยานาจารย์ ชื่อ เบ็งกะอี เป็นผู้มีชื่อเสียง ในการเทศนาธรรม คนที่มาฟังท่านนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ ในวงของ พวกนิกายเซ็น พวกนิกายอื่น หรือคนสังคมอื่น ก็มาฟังกัน ชนชั้นไหนๆ ก็ยังมาฟัง เพราะว่า ท่านไม่ได้เอา ถ้อยคำในพระคัมภีร์ หรือในหนังสือ หรือ ในพระไตรปิฎก มาพูด แต่ว่าคำพูด ทุกคำนั้น มันหลั่งไหล ออกมาจาก ความรู้สึกในใจ ของท่านเองแท้ๆ ผลมันจึงเกิดว่า คนฟังเข้าใจ หรือชอบใจ แห่กันมาฟัง จนทำให้ วัดอื่น ร่อยหรอ คนฟัง เป็นเหตุให้ ภิกษุรูปหนึ่ง ในนิกาย นิชิเรน โกรธมาก คิดจะทำลายล้าง อาจารย์เบ็กกะอี คนนี้อยู่เสมอ วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านองค์นี้ กำลังแสดงธรรม อยู่ในที่ประชุม พระที่เห็นแก่ตัวจัด องค์นั้น ก็มาทีเดียว หยุดยืน อยู่หน้าศาลา แล้วตะโกนว่า เฮ้ย! อาจารย์เซ็น หยุด ประเดี๋ยวก่อน ฟังฉันก่อน ใครก็ตาม ที่เคารพท่าน ท่านจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ฉัน เคารพเชื่อฟังท่านได้ เมื่อภิกษุอวดดี องค์นั้น ร้องท้า ไปตั้งแต่ ชายคาริมศาลา ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็ว่า มาซี ขึ้นมานี่ มายืนข้างๆฉันซี แล้วฉันจะทำให้ดูว่า จะทำอย่างไร พระภิกษุนั้น ก็ก้าว พรวดพราด ขึ้นไป ด้วยความทะนงใจ ฝ่าฝูงคน เข้าไป ยืนหรา อยู่ข้างๆ ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็ว่า ยังไม่เหมาะ มายืนข้างซ้าย ดีกว่า พระองค์นั้น ก็ผลุนมาทีเดียว มาอยู่ข้างซ้าย ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็บอกอีกว่า อ๋อ! ถ้าจะพูดให้ถนัด ต้องอย่างนี้ ต้องข้างขวา ข้างขวา พระองค์นั้น ก็ผลุนมาทางขวา พร้อมกับมีท่าทาง ผยองอย่างยิ่ง พร้อมที่จะท้าทาย อยู่เสมอ ท่านอาจารย์เบ็งกะอีจึงว่า เห็นไหมล่ะ ท่านกำลัง เชื่อฟังฉันอย่างยิ่ง และในฐานะ ที่ท่านเชื่อฟัง อย่างยิ่งแล้ว ฉะนั้น ท่านจงนั่งลง ฟังเทศน์เถิด นี่เรื่องก็จบลง
นิทานอิสปเรื่องนี้ มันสอนว่าอย่างไร เหมือนพระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า นิวาโต เอตมฺมงฺคลมุตตมํ วาโต ก็เหมือนกะ สูบลมอัดเบ่งจนพอง ถ้า นิวาโต ก็คือ ไม่พองไม่ผยอง เป็นมงคลอย่างยิ่ง ข้อนี้ ย่อมแสดงว่า มีวิชาความรู้ อย่างเดียว นั้นไม่พอ ยังต้องการ ไหวพริบ และ ปฏิภาณ อีกส่วนหนึ่ง พระองค์นี้ ก็เก่งกาจ ของ นิกายนิชิเรน ในญี่ปุ่น แต่มาพ่ายแพ้อาจารย์ ที่แทบจะไม่รู้หนังสือ เช่นนี้ ซึ่งพูดอะไร ก็ไม่อาศัยหนังสือ เพราะบางที ก็ไม่รู้หนังสือเลย แพ้อย่างสนิทสนม เพราะขาดอะไร ก็ลองคิดดู พวกฝรั่งก็ยังพูดว่า Be wise in time ฉลาดให้ทันเวลา โดยกระทันทัน ซึ่งบาลีก็มีว่า “ขโณ มา โว อุปจฺจคา” ขณะสำคัญ เพียงนิดหนึ่ง นิดเดียวเท่านั้น อย่าได้ผ่านไปเสียนะ ถ้าผ่านไป จะต้องมีอย่างยิ่ง มิฉะนั้น จะควบคุมเด็ก ไม่อยู่ เราลองคิดดูซิว่า เด็กๆของเรา มีปฏิภาณเท่าไร เราเองมี ปฏิภาณเท่าไร มันจะสู้กัน ได้ไหม ลองเทียบไอคิว ในเรื่องนี้ กันดู ซึ่งเกี่ยวกับ ปฏิภาณนี้ ถ้าครูบาอาจารย์เรา มีไอคิว ในปฏิภาณนี้ ๕ เท่าของเด็กๆ คือ เหนือเด็ก ห้าเท่าตัว ก็ควรจะได้รับเงินเดือน ห้าเท่าตัว ของที่ควรจะได้รับ หรือว่าใครอยากจะเอา สักกี่เท่า ก็เร่งเพิ่มมันขึ้น ให้มีปฏิภาณไหวพริบ จนสามารถ สอนเด็ก ให้เข้าใจ เรื่องกรรม เรื่องอนัตตา เรื่องนิพพาน ได้อย่างไรทีเดียว นี่คือ ข้อที่จะต้อง อาศัยปฏิภาณ ซึ่งวันหลัง ก็คงจะได้พูดกัน ถึงเรื่องนี้บ้าง.
นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น